เกร็ดความรู้เรื่องผ้าบาติก

เกร็ดความรู้เรื่องผ้าบาติก

            ผ้าบาติก เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำลวดลายผ้าโดยการใช้เทียนปิด ส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติด และระบายสีในส่วนที่ต้องการให้สีติด “บาติก” หรือ “ปาเต๊ะ” เป็นคำในภาษาชวามาจากคำว่า “ติติ๊ก”หรือ “ติก”มีความหมายว่า เล็กน้อยหรือจุดเล็กๆ โดยใช้การหลอมเหลวของแว๊ก (WAX) หยดหรือเขียนที่เรียกว่า “การเขียนน้ำเทียน” เป็นกรรมวิธีที่จะระบายเทียนที่หลอมเหลวให้เข้าไปในเนื้อผ้า จากนั้นนำไปย้อมตามขบวนการการทำสีผ้าบาติก คือ ย้อมในส่วนที่ไม่ปิดแว๊กให้ติดสีย้อมคือแต้มหรือระบายลงไปในส่วนที่ต้องการ ให้สีติด เมื่อเสร็จกรรมวิธีแล้วจึงลอกเทียนออกด้วยการนำไปต้มในน้ำเดือด ดังนั้น “บาติก” จึงเป็นการตกแต่งผ้าวิธีหนึ่งที่ทำกันมากในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไท ยซึ่งมีการนำเสนอลวดลายผ้าที่ออกมาจากความคิดจินตนาการของผู้ทำรวมทั้ง เทคนิคในการทำที่แตกต่างกันของกลุ่มชนในแต่ละประเทศที่เป็นเอกลักษณ์แสดงถึง อารยธรรม และวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสถานที่นั้น ๆ
บาติกเป็นงานฝีมือที่มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้วส่วนแหล่งกำเนิดมาจากไหนยังไม่เป็นข้อยุติ นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนเชื่อว่ามีในอินเดียก่อน แล้วจึงแพร่เข้าไปในอินโดนีเซีย และอีกหลายคนเชื่อว่ามาจากอียิปต์หรือเปอร์เซีย มีการค้นพบผ้าบาติกที่อียิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังยืนแน่ชัดว่า ศัพท์เฉพาะ ขั้นตอน สี รวมทั้ง ขี้ผึ้งที่ใช้เขียนลาย เป็นของอินโดนีเซีย ไม่เคยมีในประเทศอินเดียมาก่อน ถึงจะมีการค้นพบผ้าบาติกในที่ต่างกันแต่ผ้าบาติกของอินโดนีเซียน่าจะเกิดจาก ประเทศอินโดนีเซียเอง เพราะซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนของชาติอื่น ๆ และยังมีผู้ยืนยันระบุอีกว่า การทำผ้าโสร่งบาติกมีต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซียแน่นอน (นันทา, 2536)
จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของผ้าบาติกจึงสามารถสรุปได้ว่า ผ้าบาติกมีแหล่งกำเนิดที่ระบุไม่แน่ชัดแต่พบมากในประเทศอินโดนีเซีย โดยเริ่มมาจากการทำผ้าบาติกของสตรีในวัง แล้วแพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป จากนั้นได้มีการพัฒนาเทคนิคการสืบต่อกันมาจนกระทั่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในปัจจุบัน ถ้าเป็นบาติกที่เขียนด้วยมือถือว่าเป็นบาติกชั้นสูง มีราคาแพง จึงทำให้เกิดการเลียนแบบผ้าบาติกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถทำให้เกิดเทคนิคในการทำลวดลายให้ดูคล้ายกับผ้าบาติก แต่จริง ๆ แล้วเป็นการพิมพ์แบบสกรีนและไม่เป็นที่นิยมเท่ากับผ้าบาติก ส่วนการทำผ้าบาติกของไทยนั้น นิยมทำกันเป็นงานฝีมือ หรือที่เรียกว่า บาติกเพ้นท์ที่เขียนด้วยมือ ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกับศิลปะบาติกของชาติอื่น

 วัสดุและอุปกรณ์  
  • อุปกรณ์ในการเขียนเทียน เรียกว่า “ชันติ้ง” (Tjanting)
  • ขี้ผึ้ง เทียนไข ผสมในอัตราส่วนที่ต้องการ เช่น อัตาส่วนขี้ผึ้งต่อพาราฟิน 1:2 ต้องการให้เทียนมีความเหนียว , 1:8 ต้องการให้เทียนเกิดรอยแตก (Crack) ง่าย เป็นต้น
  • ผ้าที่ใช้ เช่น ผ้ามัสลิน ผ้าไหม เป็นต้น
  • กรอบไม้สำหรับขึงผ้า
  • ภาชนะใส่น้ำเทียน
  • เตาไฟฟ้า
  • กรรไกรตัดผ้า
  • แก้วผสมสี และภาชนะใส่น้ำสี
  • น้ำร้อน-น้ำเย็น ใช้สำกรับผสมสี
  • เตารีด
  • ภู่กัน ใช้เบอร์ 6, 8, 12 ปลายเหลม หรือปลายตัดขึ้นอยู่กับความต้องการใช้
  • สีที่ใช้แต้ม หรือ ย้อม เช่น สีรีแอคทีฟ สีวัต เป็นต้น
  • สารเคมีที่ใช้ในการย้อม เช่น โซดาแอส โซเดียมคาร์บอเนต เป็นต้น
  • โซเดียมซิลิเกต ใช้สำหรับให้สีผนึกกับผ้าได้ดี
  • อ่างสำหรับไว้ต้มเทียนออกจากผ้า
 การออกแบบลายผ้า  

การออกแบบลายผ้าบาติก เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำผ้าบาติก ผ้าจะมีคุณค่ามีความสวยงาม มีราคาสูง ดูแล้วน่าใช้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการออกแบบลายที่มีลักษณะแตกต่างกัน มีเทคนิคในการผลิตซึ่งมี 2 ลักษณะคือ การออกบาติกแบบลายพิมพ์ และการออกแบบบาติกลายเขียน
1. การออกแบบบาติกลายพิมพ์ คือ ลายที่มีลักษณะเฉพาะที่สามารถนำมาพิมพ์ต่อกันให้มีความต่อเนื่องกันระหว่าง ลายแต่ละชิ้น ลักษณะการจัดองค์ประกอบของลายพิมพ์นี้ควรให้ตัวลายอยู่ภายในโครงสร้างของรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่นิยมใช้กันทั่วไป มี 4 ชนิด คือ

  • แม่พิมพ์โลหะ เป็นแม่พิมพ์ลายเส้นที่แสดงรายละเอียดชัดเจน การออกแบบสำหรับการพิมพ์โดยทั่วไปมักจะออกเป็นชุดมีแม่พิมพ์ 2-3 อัน คือ แม่พิมพ์ลายเส้น แม่พิมพ์ปิด และแม่พิมพ์เก็บสีพื้นเพื่อย้อมสีที่ 2 ต่อไป
  • แม่พิมพ์ไม้ เป็นแม่พิมพ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นๆไม่สามารถแสดงเรื่องราว และรายละเอียดลักษณะเป็นลายเส้นโตๆลายที่เกิดขึ้นจะได้สีขาว คือ เกิดจากรอยเทียนจาก แม่พิมพ์ และพื้นเป็นสีย้อม
  • แม่พิมพ์เชือก เป็นลวดลายที่ไม่มีรายละเอียดเป็นลักษณะลายเส้น เมื่อพิมพ์เทียนแล้วนำไปย้อม แล้วพิมพ์เทียนซ้ำเพื่อเก็บสีเดิมไว้ลักษณะลายจะแสดงให้เห็นลายพื้นของผิว แม่พิมพ์ (TEXTURE) จากรอยแม่พิมพ์เชือก
  • แม่พิมพ์พลาสติก ทำจากพลาสติกแผ่นบางใสสีเขียวฉลุลายพลาสติกให้สวยงามทำลวดลายบนผ้าเหมือนๆกันได้เป็นชุดหลายผืนอาจเรียกได้ว่า สเตลซิล แผ่นหนึ่งจะลงเทียนได้ 40 – 50 ครั้ง

2. การออกแบบบาติกลายเขียน โดยส่วนใหญ่จะออกแบบลงบนกระดาษก่อนการลอกลายลงบนผ้าด้วยดินสอสีเพื่อนำไป เขียนด้วยจันติ้ง บาติกลายเขียนนี้จะออกแบบลายเพียงครั้งเดียวไม่นิยมทำซ้ำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละลาย ถ้ามีการทำซ้ำกัน จะทำให้คุณค่าของลวดลายนั้นลดลง การเขียนลายผู้เขียนสามารถเลือกขนาดของจันติ้ง ให้เหมาะกับจุดประสงค์ และต้องการของผู้ออกแบบเอง การออกแบบบาติกลายพิมพ์ และบาติกลายเขียน มี 4 ลักษณะดังนี้

  • ลายเรขาคณิต การออกลายเส้นรูปทรงเรขาคณิตนี้ ควรควบคู่ไปกับเทคนิคการย้อมสี และรอยแตกของเทียน เหมาะสำหรับงานจิตรกรรมเทคนิคบาติกเพื่อประดับผนัง
  • ลายดัดแปลงจากลายธรรมชาติ เป็นลวดลายที่มีความนุ่มนวลลักษณะลายที่มีการลื่นไหล
  • ลายไทย และลายเครือเถา นิยมเขียนบนผ้าไหม
  • ลายภาพสัตว์ มี 2 ลักษณะ คือ
    • รูปทรงไม่เหมือนธรรมชาติ เช่น ภาพฉากกั้นห้อง ลักษณะกึ่ง นามธรรม
    • ภาพสัตว์ที่เป็นเรื่องราว เช่น วรรณกรรม วรรณคดี มักใช้กับงาน จิตรกรรรม
 ขั้นตอนในการทำ  
  • การเตรียมผ้า
    ควรเลือกผ้าให้เหมาะสม ผ้าที่ใช้ในการทำผ้าบาติก ได้แก่ ผ้าที่ทำจากธรรมชาติ ที่นิยมกัน คือ ฝ้าย ลินิน ปอ และผ้าไหม ผ้าที่นำมาทำนี้จะต้องไม่หนาเกินไป เพราะน้ำเทียนจะไม่สามารถซึมผ่านอีกด้านหนึ่งได้ และก่อนนำไปเขียนเทียนควรนำไปต้มด้วยน้ำด่างโชดาอ่อน เพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนผิวผ้า โดยใช้สารเคมีดังนี้
    โซดาแอซ (ผงซักฟอก) 1 กรัม / ลิตร
    โซดาไฟ 1 กรัม / ลิตร
    สบู่เทียม (Wetting agent) 1 กรัม / ลิตร
    จากนั้นจึงนำผ้าที่ผ่านการต้มแล้วไปเขียนเทียน และลงสีต่อไป
  • การเตรียมเทียนหรือผสมเทียน
    เทียนที่ใช้ได้จากการผสมระหว่างขี้ผึ้ง (Wax) และ พาราฟิน(Paraffin) ในอัตราส่วน 1:1 หรือ 1:2 และไม่ควรเกิน 1:12 เพราะจะทำให้เทียนใสเกินไปไม่เกาะติดบนผ้า หรือบางครั้งอาจจะผสมยางสน หรือไขสัตว์ เพื่อช่วยให้เทียนแข็งและเปราะ
  • การเขียนหรือพิมพ์ลาย
    เป็นการปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติด แล้วนำไปลงสีในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำผ้าบาติกการเขียนเทียนด้วยชันติ้งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับงานบาติกลายเขียน จะได้เส้นเทียนที่มีขนาดเล็ก และสามารถเขียนรายละเอียดต่าง ๆ ได้มาก ส่วนการพิมพ์ลายจะเป็นวิธีที่ทำลายเทียนด้วยแม่พิมพ์ ลายที่ได้ค่อนข้างเป็นลายซ้ำ ๆ และมีลวดลายไม่ซับซ้อนมากนัก
  • การแต้มหรือระบายสี
    ใช้สีผงที่เป็นสีสำเร็จรูปสำหรับบาติกโดยเฉพาะ 10 กรัม หรือ 2 1/2 ช้อนกาแฟเล็กกับน้ำต้มสุขประมาณ 8-10 ช้อนโต๊ะ ละลายให้เข้ากันนำไประบายได้ตามต้องการ
  • การเคลือบน้ำยา (โซเดียมซิลิเกต)
    การเคลือบน้ำยาเพื่อเป็นการฟิกซ์ให้สีติดบนผืนผ้าอย่างถาวร โดยใช้ภู่กันทาหรือระบายให้ทั่วทิ้งไว้ 3-6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แล้วนำผ้าไปล้างนำยาออก
  • การลอกเทียนออกจากผ้า
    ต้มนำให้เดือดใส่ผงซักฟอก ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 1 ลิตร นาน 30-40 นาที จะได้ผ้าบาติกที่คุณภาพดีสีไม่ตก
  • การตกแต่งผ้า เช่น แช่น้ำยากันสีตก ตกแต่งผิวผ้า การรีด การอัด
    ขั้นตอนในการตกแต่งนี้ ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมบาติก เพื่อเป็นการดึงดูดใจลูกค้า ถ้าเป็นการทำผ้าบาติกงานฝีมือหรือในครัวเรือนใช้เพียงวิธีการรีดให้เรียบก็พอ

การทำผ้าบาติก

การทำผ้าบาติกเป็นการตกแต่งผ้าที่มีความเก่าแก่อีกวิธีหนึ่งแต่แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกมาจากที่ใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด โดยส่วนใหญ่มีการทำผ้าบาติกในกลุ่มของชาวชวาในประเทศอินโดยนีเซีย ทีมีเอกลักษณ์เฉพาะ และกรรมวิธีที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผ้าบาติกที่ได้มีความสวยงามมากกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งทางตอนใต้ของประเทศไทย ในปัจจุบันได้มีการทำผ้าบาติกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการนำผ้าบาติกมาใช้ในวงการการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นที่นิยมและต้องการของผู้สวมใส่ในปัจจุบัน
โดยทั่วไปกรรมวิธีในการทำผ้าบาติกไม่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ คือการเขียนเทียน แต้มหรือย้อมสี และลอกเทียนออกจากผ้า ทุกขั้นตอนในการทำจะต้องมี ความประณีต ละเอียด พิถีพิถัน จึงจะทำให้ผ้าบาติกดูมีความสวยงาม นอกจากนั้นยังรวมถึงความตั้งใจในการทำงานด้วย ผลงานที่สำเร็จออกมาจึงจะมีคุณภาพดี มีลักษณะเป็นงานด้านหัตถอุตสาหกรรม และเป็นงานด้านศิลปอยู่ในตัวด้วย
ในการทำผ้าบาติกนั้น นอกจากการออกแบบลวดลายที่มีความสำคัญแล้ว เครื่องมือ และ วัสดุอุปกรณ์ ก็จะต้องเตรียมให้พร้อมหลังจากที่ออกแบบลวดลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าขาดวัสดุอุปกรณ์ในขั้นตอนใด อาจจะทำให้การทำงานที่ได้ดำเนินไปแล้วต้องหยุดลง เป็นผลทำให้งานชิ้นนั้นเสียหายได้ เมื่อเตรียมเครื่องมือที่ต้องใช้ในการทำผ้าบาติกแล้ว ก็ต้องนำผ้าที่ต้องการทำมาขึงกับกรอบไม้ให้ตึงพอสมควร เพื่อความสะดวกในการเขียนเทียน ระบายสี และนำไปผ่านขั้นตอนในการทำต่อไป
การหาซื้อผ้าบาติกมาใช้เอง หรือเก็บสะสม ควรสังเกตลวดลาย สีสัน ดอก การวางลาย การวางต่อลายบนผืนผ้า และขอบลายในแต่ละลาย ว่ามีลักษณะเหมาะสมหรือไม่ ผ้าบาติกที่ดีจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะ ในแต่ละลายที่อาจจะคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน งานบาติกในสมัยนี้ มีวิวัฒนาการในการทำมากขึ้นมีเทคนิคที่ใช้ในการทำ อีกทั้งขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นจึงทำให้มีความแตกต่างกันในตัวของลวดลาย ผ้า เทคนิคในการทำบาติกสมัยใหม่ที่นี้มีความสวยงามไม่น้อยไปกว่าการตกแต่งผ้า วิธีอื่น จึงควรที่จะศึกษาเทคนิคและวีธีการทำต่อไป

————————————-

ขอขอบคุณ เนื้อหาจาก : http://www.dei.ac.th

ใส่ความเห็น